เหตุการณ์สืบเนื่อง ของ สนธิสัญญาญี่ปุ่น–สยาม พ.ศ. 2440

ปฏิญญารัสเซีย–สยาม พ.ศ. 2442

ในเวลาที่สยามกำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส รัฐบาลสยามจึงมีนโยบายสานสัมพันธ์กับรัสเซียเป็นชาติที่สามเพื่อการถ่วงดุลอำนาจกับอังกฤษและฝรั่งเศส[1][10] ในพ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชิญมกุฎราชกุมารนิโคลาสแห่งรัสเซียให้เสด็จเยือนสยาม โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสด็จไปรับมกุฎราชกุมารรัสเซียด้วยพระองค์เอง[1][10] หลังจากนั้นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพได้เสด็จเยือนจักรวรรดิรัสเซียซึ่งอยู่ภายใต้ราชวงศ์โรมานอฟ นายอาร์เธอร์ วีวอดเชฟ (Arthur Vyvodtsev) กงสุลรัสเซียประจำสิงค์โปร์ แจ้งเสนอต่อรัฐบาลสยามว่าควรมีการทำสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการระหว่างรัสเซียและสยาม[1] พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ทรงมีพระวินิจฉัยว่า การทำสัญญากับรัสเซียในครั้งนี้ไม่ควรทำเป็นสนธิสัญญาเป็นทางการ ควรทำเป็นเพียงแต่ปฏิญญาข้อตกลงเท่านั้น[1] ดังเช่นที่ได้ทรงทำปฏิญญากับญี่ปุ่นเมื่อพ.ศ. 2430 ก่อนหน้า เนื่องจากรัฐบาลสยามในขณะนั้นเริ่มมีนโยบายมุ่งเน้นสู่การเจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมที่ได้ทำกับชาติตะวันตกไว้ ข้อตกลงกับรัสเซียในครั้งนี้ควรจะสามารถบอกเลิกและแก้ไขได้โดยง่าย แต่การทำปฏิญญาระหว่างรัสเซียและสยามยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากยังไม่ได้รับความสนใจจากทางการรัสเซีย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปเมื่อพ.ศ. 2440 ได้ทรงพบกับพระเจ้าซาร์ที่โคลัสที่สองแห่งจักรวรรดิรัสเซีย ที่เมืองเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก[10] อย่างไรก็ตามรัสเซียและสยามยังมิได้มีการทำสนธิสัญญาสัมพันธไมตรีกันอย่างเป็นทางการ ในพ.ศ. 2441 พระเจ้าซาร์นิโคลัสทรงแต่งตั้งให้นายอเล็กซานเดร โอลารอฟสกี้ (Alexandre Olarovsky)[10] เป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าซาร์มายังกรุงเทพฯ ซึ่งอินางากิ มันจิโร อัครราชทูตญี่ปุ่นในสยาม ได้นำนายโอลารอฟสกี้เข้าหารัฐบาลสยามในเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2442[5] แจ้งความประสงค์ของรัสเซียที่ต้องการทำสนธิสัญญากับสยาม อย่างไรก็ตาม มิได้มีการทำสนธิสัญญาขึ้นอย่างเป็นทางการระหว่างรัสเซียและสยามเป็นเพียงแต่การทำปฏิญญาเท่านั้น

ปฏิญญาแลกเปลี่ยนระหว่างสยามและรัสเซีย (Declaration Exchanged Between Siam and Russia)[2] เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2442 ให้มีข้อตกลงร่วมกันว่า ชาวรัสเซียในสยาม และชาวสยามในรัสเซีย ต่างได้รับสิทธิประโยชน์ซึ่งแต่ละประเทศได้ทำการตกลงไว้แล้วกับชาติอื่นๆ ในด้านการค้าพาณิชย์ การเดินเรือสำรวจ และการศาล (หมายถึงว่าสยามมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่รัสเซีย) รวมถึงสนธิสัญญาใดๆ ที่ประเทศทั้งสองจะตกลงกับประเทศอื่นๆในอนาคตด้วย โดยที่ข้อตกลงรัสเซีย-สยามนี้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถบอกเลิกได้ โดยแจ้งล่วงหน้าหกเดือน[2] นายอเล็กซานเดร โอลารอฟสกี้ ได้เป็นกงสุลรัสเซียประจำสยาม และฝ่ายสยามส่งพระยามหิบาลบริรักษ์[10] (สวัสดิ์ ภูมิรัตน์) ไปเป็นอัครราชทูตสยามประจำกรุงเซนต์ปีเตอรส์เบิร์กเป็นคนแรกในพ.ศ. 2442

สยามเจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม

การร่างกฎหมายตามอย่างสมัยใหม่ของสยามยังคงดำเนินไป เจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส์) กราบทูลลากลับและถึงแก่กรรมที่ประเทศเบลเยี่ยมบ้านเกิดในพ.ศ. 2445 ในพ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงแต่งตั้งให้ฌอร์ฌ ปาดู (Georges Padoux) นักกฎหมายชาวฝรั่งเศส เป็นผู้นำคณะกรรมการร่างกฎหมาย ในพ.ศ. 2451 สยามประกาศใช้"กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127"เป็นกฎหมายสมัยใหม่ฉบับแรกของสยาม ทำให้สยามสามารถริเริ่มการเจรจาผ่อนปรนยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ได้เคยให้แก่ชาติตะวันตกไว้ได้ ในสนธิสัญญาฝรั่งเศส–สยาม พ.ศ. 2449 สยามยกพระตะบอง เสียมเรียบ ศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่าให้สัปเยกหรือคนในบังคับของฝรั่งเศสที่เป็นชาวเอเชียได้แก่ชาวลาว ชาวกัมพูชา ชาวเวียดนาม และชาวจีน ในสยาม ที่ได้จดทะเบียนนับแต่วันที่ทำสัญญานั้น ให้ขึ้นศาลสยาม[1][5] ต่อมาสนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม พ.ศ. 2452 (Anglo-Siamese Treaty of 1909) สยามยกไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้แก่อังกฤษ โดยมีหนึ่งในข้อแลกเปลี่ยนคืออังกฤษยินยอมให้สัปเยกของอังกฤษในสยาม ไม่ว่าจะเป็นชาวยุโรปอังกฤษแท้หรือชาวเอเชียได้แก่ชาวพม่าและเงี้ยวไทใหญ่ในสยาม ที่ได้ลงทะเบียนนับแต่วันที่ทำสัญญานั้น ขึ้นศาลสยามอยู่ภายใต้กฎหมายสยามทั้งหมด ในสนธิสัญญาพ.ศ. 2452 นี้ อังกฤษได้เสียสละยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตคืนให้แก่สยามเกือบทั้งหมด คงเหลือเพียงข้อบังคับที่ให้มีผู้พิพากษาชาวอังกฤษนั่งศาลด้วย และอำนาจของกงสุลอังกฤษที่สามารถแทรกแซงการพิจารณาคดีได้ตามสมควรเท่านั้น[5]

สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้หลังจากสงครามสยามมีสิทธิและอำนาจในการเจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมที่ได้ทำไว้กับชาติตะวันตกเมื่อห้าสิบปีก่อนหน้า สยามสามารถยกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมที่เคยทำไว้กับเยอรมันนีและออสเตรีย-ฮังการี ได้ทันทีเนื่องจากเป็นชาติที่แพ้สงคราม[5] รัฐบาลสยามมุ่งเน้นการเจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมกับสหรัฐก่อน เนื่องจากเป็นชาติที่ทรงอำนาจที่สุด[5]หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สหรัฐแจ้งจุดยืนเดียวกับที่เคยใช้กับญี่ปุ่นเมื่อสี่สิบปีก่อนหน้านี้ ว่าสหรัฐจะยอมแก้ไขสนธิสัญญาก็ต่อเมื่อสยามได้ประกาศใช้กฎหมายสมัยใหม่ได้ครบถ้วนแล้วเท่านั้น ในขณะนั้นสยามกำลังอยู่ในขั้นตอนการร่างกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และทยอยประกาศใช้ยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนอังกฤษและฝรั่งเศสก็คอยดูท่าทีของสหรัฐ จนสุดท้ายสหรัฐได้ยอมทำสนธิสัญญาฉบับใหม่กับสยามในพ.ศ. 2463[5] ยกเลิกสนธิสัญญาในอดีตทั้งหมด ยกเลิกข้อกำหนดภาษีสินค้าขาเข้าและยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต คืนอธิปไตยทางการคลังและการศาลให้แก่สยาม แต่สหรัฐยังคงสงวนสิทธิ์ในการให้กงสุลเข้าแทรกแซงคดีตามสมควร จนกว่าสยามจะประกาศใช้กฎหมายอย่างสมบูรณ์[5] ต่อมาพ.ศ. 2467 สยามและญี่ปุ่นทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ ยกเลิกสนธิสัญญาฉบับเดิมที่ได้ทำเมื่อพ.ศ. 2440 นี้ จัดตั้งความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและสยามอย่างเท่าเทียม คืนอำนาจทางการคลังและการศาลให้แก่สยามอีกเช่นกัน

สนธิสัญญาที่สยามได้ทำกับสหรัฐในพ.ศ. 2463 ได้กลายเป็นต้นแบบในการทำสนธิสัญญาใหม่กับชาติอื่นๆ พระยากัลยาณไมตรี ฟรานซิส โบวส์ แซร์ (Francis Bowes Sayre)[5] ศาสตราจารย์ด้านเนติศาสตร์ชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นผู้แทนสยามเดินทางไปทวีปยุโรปในพ.ศ. 2467 เพื่อเจรจาทำสนธิสัญญาใหม่กับประเทศต่างในยุโรป สยามได้ทำสนธิสัญญาใหม่กับฝรั่งเศสและอังกฤษในพ.ศ. 2468 ซึ่งชาติเหล่านี้ยังคงสงวนสิทธิ์ในการให้กงสุลเข้าแทรกแซงได้ จนกระทั่งสยามสามารถประกาศใช้กฎหมายทั้งหมดโดยสมบูรณ์ในพ.ศ. 2478 สมัยคณะราษฎร สยามจึงเริ่มเจรจายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตอย่างสมบูรณ์ในพ.ศ. 2480 กับชาติตะวันตกทีละประเทศ ดำเนินการจนถึงพ.ศ. 2481 จึงเสร็จสิ้น ถือว่าสยามสามารถยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้อธิปไตยทางการศาลคืนมาอย่างสมบูรณ์[5]